วงจันทร์ ไพโรจน์

ดวงจันทร์ ไพโรจน์ หรือ วงจันทร์ ไพโรจน์ มีชื่อเล่นว่าจิ๋ม เป็นชาวกรุงเทพฯ เกิด''เมื่อ 18 กรกฎาคม 2478 เป็นบุตรคนที่ 3 ของนายทวี และนางสงิม ไพโรจน์ จบการศึกษา''ชั้น ประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนวันรับศีลวิทยา ก่อนที่จะมาศึกษาต่อที่โรงเรียนสตรี''เพชรบุรีวิทยาลงกรณ์จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 

พ่อแม่เสียชีวิตตั้งแต่เธอยังเล็ก   ทำให้ต้องมาอยู่ในความดูแลของยาย  ที่มีบ้านใน''ซอยกิ่งเพชร ใกล้กับวังอัศวินของพระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล หรือองค์ชายใหญ่ และเรื่องนี้ก็เป็นเหตุให้เธอมีโอกาสได้คลุกคลี  ร่ำเรียนวิชานาฏศิลป์และร่วมแสดงละครหรือภาพยนตร์ของคณะอัศวินการละครในเวลาต่อมา

ด้วยใจรักการร้องเพลง  ในวัยเพียง  9 ขวบ ภายใต้การสนับสนุนจากครูมงคล อมาตยกุล เธอก็ได้ขึ้นแสดงความสามารถในด้านนี้โดยการประกวดร้องเพลงรำวงในงานวัดภูเขาทอง  โดยใช้เพลงที่ชื่อว่า  8  นาฬิกา ในการประกวด และได้รางวัลชนะเลิศจนบริษัท  ต.เง็กชวน  เห็นแววจึงนำไปอัดแผ่นร้องเพลงเด็ก ร่วมกับนักร้องรุ่นราวคราวเดียวกันอย่าง นริศ อารีย์ และ ณรงค์ ธนะวังน้อย

ตอนอายุได้ 14 ปี การที่เธอได้ตำแหน่งรองชนะเลิศในการประกวดร้องเพลงชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทยที่โรงภาพยนตร์พัฒนากร (รางวัลที่ 1 เป็นของลัดดา ศรีวรนันท์ ) ทำให้องค์ชายใหญ่ต้องนำเธอมาร้องเพลงสลับหน้าม่านละครและภาพยนตร์  รวมทั้งให้ร้องเสียงลิปซิง สมจิตร ทรัพย์สำรวย นางเอกละครแสดงหน้าเวที ซึ่งสามีของนางเอกคนดัง นายสวง ทรัพย์สำรวย หรือล้อต๊อก ยอดศิลปินจำอวดก็ยังเคยทำนายไว้ว่า เธอจะเป็นหนึ่งในนักร้องชั้นนำของแผ่นดินสยามในภายภาคหน้า  โดยภาพยนตร์ที่เธอร่วมแสดงในช่วงนี้ก็อย่างเช่น นเรศวรมหาราช, ลูกโจร และนางกลางเมือง

เอกลักษณ์ตรง ''ลูกคอชั้นเดียว'' ทำให้เธอได้มาร่วมเป็นสมาชิกของวงดนตรีมงคล อมาตยกุล  หรือวงดนตรี ป.ชื่นประโยชน์ โดยวงนี้จะใช้ชื่อใดในสองชื่อนี้ ก็แล้วแต่จังหวะและโอกาส  เป็นการรวมตัวกันของครูมงคล กับเพื่อนๆ คือ ครูป.ชื่นประโยชน์, ครูเนียน วิชิตนันท์, ครูไพบูลย์ บุตรขัน และ ครูแก้ว รักไทย มีนักร้อง อาทิ ลัดดา ศรีวรนันท์, นริศอารีย์, ปรีชา บุณยเกียรติ เธอได้เปลี่ยนชื่อจากดวงจันทร์ มาเป็นวงจันทร์ 

ในปี  2496 วงจันทร์ ไพโรจน์ ผันตัวออกจากมาเป็นนักร้องประจำวงดุริยางค์กองทัพเรือ  ที่คับคั่งไปด้วยนักร้องคนดัง  อาทิ สมยศ ทัศนพันธ์, พยงค์ มุกดา และเอมอร วิเศษสุทธิ์ ได้เป็นเบี้ยเลี้ยงวันละ 17 บาท  

ต่อมาครูฮอน หาญบุญตรง ชักชวนมาร้องเพลงที่ไนต์คลับ ''ห้อยเทียนเหลา'' และให้บันทึกแผ่นเสียงเพลงแรกชื่อ ''ราตรีเจ้าเอ๋ย'' กับ ''วิมานรัก'' กับบริษัท ต.เง็กชวน ได้ค่าเหนื่อย 50 บาท 

วงจันทร์  ไพโรจน์  เริ่มมีชื่อเสียงโด่งดังในปี  2500 จากผลงานเพลงที่ 4 ''ช่างร้ายเหลือ''  ยังได้ขับร้องเพลง  ''สาวสะอื้น''  ของครูสมาน กาญจนะผลิน, ''ไทรโยคแห่งความหลัง'' ของครูนคร มงคลายน  ''เสียงสะอื้นจากสาวเหนือ'' ของครูสุรพล สมบัติเจริญ  และ''แม่พิมพ์ของชาติ'' เพลงที่มีผลทำให้ผู้คนในยุคนั้นมากมายอยากจะเป็นครู ประพันธ์โดยสุเทพ  โชติสกุล, ''อุทยานดอกไม้'' คำร้องโดยสกนธ์ มิตรานนท์ และทำนองโดย ชูศักดิ์ รัศมีโชติ ที่ได้ชื่อว่าเป็นเพลงที่รวบรวมรายชื่อดอกไม้ไว้มากที่สุดคือ 49 ชนิด 

และจาก  ''ดอกกุหลาบมอญ''  ที่แฟนเพลงมอบให้ที่ชานชาลาสถานีรถไฟ ก็เป็นการจุดประกายชีวิตนักแต่งเพลงให้กับเธอด้วยงานเพลงชิ้นแรก  ''กุหลาบเวียงพิงค์'' กว่า 50 ปี จนถึงปัจจุบัน วงจันทร์ ไพโรจน์ ได้แต่งเพลงไว้มาก กว่า 100 เพลง 

วงจันทร์ อยู่กับวงดุริยางค์ทหารเรือจนอายุ 28 ปี ได้ลาออกจากวงมาเดินสายร้องเพลงตามต่างจังหวัดอย่างจริงจังกับวงบางกอก  ชะชะช่า ได้ค่าตัววันละ 500 บาท เดินสายอยู่  2  ปี  ก็หันมาร้องเพลงประจำไนต์คลับอเล็กซานดรา และยังมีโอกาสร่วมแสดงภาพยนตร์เรื่อง  ''เพื่อนแพง''  ของเชิด ทรงศรี 

ในปี 2513 เธอลงทุนเปิดภัตตาคารตาลเดี่ยว ถนนพหลโยธิน ได้เพื่อนนักร้อง อาทิ สมยศ ทัศนพันธ์, วิเชียร ภู่โชติ, นริส อารีย์, ลัดดา ศรีวรนันท์, ศิริจันทร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา และพูลศรี กำเนิดเหมาะ มาขึ้นร้องเพลง กิจการดำเนิน 16 ปีหมดสัญญาเช่า 

วงจันทร์ ไพโรจน์ ย้ายไปทำร้านใหม่อยู่ที่หมู่บ้านอมรินทร์นิเวศน์ ชื่อว่าร้านวงจันทร์ แต่ไม่ประสบความสำเร็จในยุคที่วงการโทรทัศน์ได้รับความนิยม  วงจันทร์  ไพโรจน์ ก็ได้ผลิตรายการเพลงรักสามสมัย และรายการอาศรมนักเพลง  

ปัจจุบันวงจันทร์   หันมาทำงานฝีมือประเภทศิลปะการร้อยสร้อยประดับลวดลายไทยจากดินญี่ปุ่น ส่งออกตามออร์เดอร์ลูกค้าที่มีจำนวนมาก และเขียนเพลงอยู่กับบ้านที่ อ.หางดง จ.เชียงใหม่  กับสามี  วิภาค  สุนทรจามร  ทายาทเจ้าของมรดกบทเพลงดังของครูเวส สุนทรจามร  ซึ่ง วงจันทร์ ไพโรจน์ บันทึกเสียงเพลงเอาไว้ทั้งสิ้น 1,117 เพลง